วันเสาร์ที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551

ประวัติจังหวัดนครสวรรค์




ประวัติจังหวัดนครสวรรค์

นครสวรรค์เป็นเมืองโบราณซึ่งสันนิษฐานว่าตั้งขึ้นในสมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี โดยมีปรากฏชื่อใน ศิลาจารึกเรียกว่า เมืองพระบาง เป็นเมืองหน้าด่านสำคัญในการทำศึกสงครามมาทุกสมัย ตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัย กรุงธนบุรี จนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ ตัวเมืองดั้งเดิมตั้งอยู่บริเวณเชิงเขาขาด (เขาฤาษี) จรดวัดหัวเมือง(วัดนครสวรรค์) ยังมีเชิงเทินดินเป็นแนวปรากฏอยู่ เมืองพระบาง ต่อมาได้เป็น เมืองชอนตะวัน เพราะตัวเมืองตั้งอยู่บนฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา และหันหน้าเมืองไปทางแม่น้ำซึ่งอยู่ ทางทิศตะวันออกทำให้แสงอาทิตย์ส่องเข้าหน้าเมืองตลอดเวลาแต่ภายหลังได้เปลี่ยนเป็นเมืองนครสวรรค์ เป็นศุภนิมิตอันด นครสวรรค์ มีชื่อเรียกเป็นที่รู้จักแพร่หลายมาแต่เดิมว่า ปากน้ำโพ โดยปรากฏเรียกกันมาตั้งแต่ในสมัย กรุงศรีอยุธยา ตามประวัติศาสตร์ในคราวที่พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองยกทัพมาตีกรุงศรีอยุธยาครั้งสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ กองทัพเรือจากกรุงศรีอยุธยาได้ยกไปรับทัพข้าศึกที่ปากน้ำโพ แต่ด้านทัพข้าศึกไม่ไหว จึงล่าถอยกลับไป ที่มาของคำว่า ปากน้ำโพ สันนิษฐานได้ 2 ประการ คือ อาจมาจากคำว่า ปากน้ำโผล่ เพราะเป็นที่ปากน้ำปิง ยม และน่าน มาโผล่รวมกันเป็น ต้นแม่น้ำเจ้าพระยา หรืออีกประการหนึ่ง คือ มีต้นโพธิ์ขนาดใหญ่อยู่ตรงปากน้ำในบริเวณวัดโพธิ์ ซึ่งเป็นที่ตั้งศาลเจ้าพ่อกวนอูในปัจจุบัน จึงเรียกกันว่า ปากน้ำโพธิ์ ก็อาจเป็นได้ ในสมัย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้ทรงนำพระพุทธรูป ชื่อ พระบาง มาค้างไว้ที่เมืองนี้ ต่อมาไทยรบทัพจับศึกกับพม่าและปราบหัวเมืองฝ่ายเหนือที่แข็งเมืองยกมาตีกรุงศรีอยุธยาและตอนต้นกรุงเทพฯ กองทัพไทยได้ยกเคลือนที่ขึ้นมาเลือกนครสวรรค์ที่เคยเป็นโรงทหารเก่าหลังโรงเหล้าปัจจุบัน เป็นที่ตั้งทัพหลวงแล้วดัดแปลงขุดคูประตูหอรบจากตะวันตกตลาดสะพานดำ ไปบ้านสันคู ไปถึงทุ่งสันคู เดี๋ยวนี้ ยังปรากฏแนวคูอยู่ เมื่อข้าศึกยกลงมาจากทุ่งหนองเบน หนองสังข์ สลกบาตร และตะวันออกเฉียงใต้ของลาดยาวมาเหนือทุ่งสันคุ เมื่อฤดูแล้งเป็นที่ดอนขาดน้ำ ถ้าฝนตกน้ำก็หลากเข้ามาอย่างแรงท่วมข้าศึก ไทยยกทัพตีตลบหลัง พม่าวิ่งหนีผ่านช่องเขานี้จึงได้ชื่อว่า เขาช่องขาด มาจนบัดนี้
อาณาเขต
ทิศเหนือ ติดต่อกับ จังหวัดกำแพงเพชร และ พิจิตร ทิศใต้ ติดต่อกับ จังหวัดอุทัยธานี สิงห์บุรี ชัยนาท ลพบุรี
ทิศตะวันตก ติดต่อกับ จังหวัดตาก และ อุทัยธานี ทิศตะวันนออก ติดต่อกับ จังหวัดเพชรบูรณ์

จำนวนประชากร
1. ขนาดของประชากร (Population Size)
จังหวัดนครสวรรค์มีจำนวนประชากร (ธันวาคม 2541) รวมทั้งสิ้น 1,151,101 คน (ดูแผนที่ แผ่นที่ 11)

2. การกระจายตัวของประชากร (Population Distribution)
การกระจายตัวของประชากรในจังหวัดนครสวรรค์ มีลักษณะการตั้งถิ่นฐานหนาแน่นในเขตเมือง คือ เทศบาลนครนครสวรรค์ เทศบาลเมืองชุมแสง เทศบาลตำบลตาคลี อำเภอที่มีประชากรมากที่สุด คือ อำเภอเมืองนครสวรรค์ มีจำนวนประชากร 155,769 คน รองลงมาคือ อำเภอตาคลี มีจำนวนประชากร 99,696 คน อันดับสามคือ อำเภอบรรพตพิสัย มีจำนวนประชากร 96,429 คน อันดับสี่ คือ อำเภอลาดยาว มีจำนวนประชากร 95,139 คน บริเวณที่ประชากรน้อยที่สุด คือ กิ่งอำเภอชุมตาบง มีจำนวนประชากร 17,830 คน
3. ความหนาแน่นของประชากร (Population Density)
จังหวัดนครสวรรค์มีความหนาแน่นของประชากรเท่ากับ 120 คน ต่อพื้นที่ 1 ตารางกิโลเมตร17 อำเภอที่ประชากรหนาแน่นมากที่สุด คือ อำเภอเมืองนครสวรรค์ 196 คนต่อพื้นที่ 1 ตารางกิโลเมตร รองลงมาคือ อำเภอเก้าเลี้ยว 140 คนต่อพื้นที่ 1 ตารางกิโลเมตร อันดับสามคือ อำเภอลาดยาว 128 คนต่อพื้นที่ 1 ตารางกิโลเมตร และบริเวณที่ประชากรเบาบางที่สุด คือ อำเภอแม่วงก์ 48 คนต่อพื้นที่ 1 ตารางกิโลเมตร ดังรายละเอียดในตาราง 1 (ดูแผนที่ แผ่นที่ 12)
ตาราง 1 แสดงความหนาแน่นของประชากรต่อพื้นที่ 1 ตารางกิโลเมตร18
ที่มา : ที่ทำการปกครองจังหวัดนครสวรรค์ ข้อมูลสิ้นปีธันวาคม พ.ศ. 2549

จำนวนกำนัน/ผู้ใหญ่บ้าน


การปกครอง
จังหวัดนครสวรรค์มีพื้นที่ 9597.7 ตารางกิโลเมตร ภูมิประเทศเป็นที่ราบลุ่มริมฝั่งแม่น้ำ มีป่าไม้อยู่ทางทิศตะวันตกและทิศตะวันออก แบ่งการปกครองออกเป็น 12 อำเภอ และ 1 กิ่งอำเภอ คือ อำเภอเมืองนครสวรรค์ อำเภอลาดยาว อำเภอตาคลี อำเภอชุมแสง อำเภอบรรพตพิสัย อำเภอท่าตะโก อำเภอ พยุหะคีรี อำเภอไพศาล อำเภอหนองบัว อำเภอตากฟ้า อำเภอโกรกพระ อำเภอเก้าเลี้ยวและ กิ่งอำเภอแม่วงก์

สถานที่ท่องเที่ยว
นครสวรรค์อยู่ในเขตพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง มีพื้นที่ส่วนที่เป็นภูเขาและป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์แห่งหนึ่งในอดีต ในปี พ.ศ. ๒๕๐๔ นครสวรรค์มีพื้นที่ป่าไม้อยู่ประมาณ ๒,๙๕๐ ตารางกิโลเมตรหรือประมาณ ๑,๘๔๔,๐๐๐ ไร่ คิดเป็นร้อยละ ๓๑ ของพื้นที่จังหวัด ปัจจุบันพื้นที่ป่าไม้ในส่วนที่เป็นพื้นราบหมดไป แม้พื้นที่ป่าแถบภูเขาก็ถูกทำลายลงเป็นอันมาก ในปี พ.ศ. ๒๕๓๘ พื้นที่ป่าไม้ของจังหวัดนครสวรรค์เหลืออยู่เพียงประมาณ ๖๗๓ ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ ๔๒๐,๐๐๐ไร่ คิดเป็นร้อยละ ๗ ของพื้นที่จังหวัด กรมป่าไม้ได้ออกประกาศในพระราชบัญญัติรักษาป่า พ.ศ. ๒๔๕๖ สำหรับมณฑลนครสวรรค์ ต่อมาได้มีกฎหมายเกี่ยวกับป่าไม้ ได้แก่พระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. ๒๔๘๔ พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๗ พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๐๔ พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. ๒๕๓๕ และพระราชบัญญัติสวนป่า พ.ศ. ๒๕๓๕ ในเขตจังหวัดนครสวรรค์ประกอบด้วย ป่าสงวนแห่งชาติ อุทยานแห่งชาติ เขตห้ามล่าสัตว์ป่า วนอุทยาน สวนรุกขชาติ และสวนป่า ดังต่อไปนี้ ป่าสงวนแห่งชาติ

ป่าแม่วงก์ - แม่เปิน อยู่ในเขตอำเภอแม่วงก์ อำเภอแม่เปิน กิ่งอำเภอชุมตาบง ประกาศเป็นป่าสงวนเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๑ มีพื้นที่ประมาณ ๑,๐๘๑,๐๐๐ ไร่ ปัจจุบันมีสภาพป่าเหลืออยู่ ประมาณ ๕๔๕,๐๐๐ ไร่ ในพื้นที่ราบไม่มีสภาพป่าและเป็นป่าเสื่อมโทรม ได้มอบให้ ส.ป.ก. ไปรังวัดออกเอกสารสิทธิ์ให้แก่ราษฎร ตามมติคณะรัฐมนตรี พื้นที่บางส่วนเป็นป่าสงวนแห่งชาติแม่วงก์ - แม่เปิน พื้นที่ ๒๗๙,๗๐๐ ไร่ ได้มีพระราชกฤษฎีกาเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๐ กำหนดเป็นอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ มีสภาพป่าสมบูรณ์เต็มที่ ไม่มีผู้บุกรุกครอบครองเข้าทำกิน ขณะนี้กำลังทำแนวเขตพื้นที่ป่ากันชน
ป่าเขาหลวง อยู่ในเขตอำเภอเมือง ฯ อำเภอลาดยาว และอำเภอโกรกพระ มีพื้นที่ประมาณ ๕๕,๐๐๐ ไร่ ประกาศเป็นป่าสงวนเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๗ ปัจจุบันมีสภาพป่าเหลืออยู่ประมาณ ๔๖,๐๐๐ ไร่ สำหรับพื้นที่ราบไม่มีสภาพป่า และเป็นป่าเสื่อมโทรม ได้มอบให้ ส.ป.ก. เข้าไปดำเนินการ และได้ประกาศเป็นวนอุทยานเขาหลวงเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๙ ป่าเขาคอก ป่าเขาโลมนาง ป่าเขาสอยดาว อยู่ในเขตอำเภอไพศาลี มีพื้นที่ประมาณ ๑๐๖,๐๐๐ ไร่ ประกาศเป็นป่าสงวนเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๖ ปัจจุบันมีสภาพป่าอยู่ประมาณ ๕๑,๐๐๐ ไร่ สำหรับพื้นที่ราบไม่มีสภาพป่า และเป็นป่าเสื่อมโทรม ได้มอบให้ ส.ป.ก.เข้าดำเนินการ และบางส่วนได้จัดให้เป็นสวนรุกขชาติ ๑๐๐ ปีกรมป่าไม้ ป่าเขาสูง และป่าเขาพระ อยู่ในเขตอำเภอหนองบัว และอำเภอไพศาลี มีพื้นที่ประมาณ ๖๖,๐๐๐ ไร่ ประกาศเป็นป่าสงวนเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๘ ปัจจุบันมีสภาพป่าเหลืออยู่ประมาณ ๕,๐๐๐ ไร่ สำหรับพื้นที่ราบไม่มีสภาพป่า และเป็นป่าเสื่อมโทรม ได้มอบให้ ส.ป.ก. เข้าไปดำเนินการ ป่าเขาสนามชัย อยู่ในเขตอำเภอพยุหคีรี มีพื้นที่ประมาณ ๑๑,๐๐๐ ไร่ ประกาศเป็นป่าสงวนเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๖ ปัจจุบันมีสภาพป่าเหลืออยู่ประมาณ ๒,๕๐๐ ไร่ สำหรับพื้นที่ราบไม่มีสภาพป่า และเป็นป่าเสื่อมโทรม ได้มอบให้ ส.ป.ก. ไปดำเนินการ ป่าดงยาง ห้วยพลับ อยู่ในเขตอำเภอบรรพตพิสัย มีพื้นที่ ๑,๐๐๐ ไร่ ประกาศเป็นป่าสงวนเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๑ ปัจจุบันไม่มีสภาพป่าเหลืออยู่เลย สภาพเป็นพื้นที่ราบทั้งหมด ได้มอบให้ ส.ป.ก. เข้าไปดำเนินการทั้งหมด อุทยานแห่งชาติ ในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ มีอุทยานแห่งชาติอยู่เพียงแห่งเดียวคือ อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ป่าแม่วงก์ ระหว่างรอยต่อสองจังหวัดคือ นครสวรรค์ กับกำแพงเพชร ส่วนที่อยู่ในเขตจังหวัดนครสวรรค์เรียกว่า ป่าแม่วงก์ - แม่เปิน มีพื้นที่ประมาณ ๒๘๐,๐๐๐ ไร่ ส่วนที่อยู่ในเขตจังหวัดกำแพงเพชรเรียกว่า ป่าคลองขลุง และป่าคลองแม่วงก์ มีพื้นที่ประมาณ ๒๗๙,๐๐๐ ไร่ ได้ประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๐ นับเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ ๕๕ ของประเทศไทย อุทยาน ฯ แห่งนี้มีสภาพภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูงสลับซับซ้อน เป็นต้นกำเนิดแม่น้ำแม่วงก์ และห้วยคลองโพธิ ซึ่งเป็นต้นกำเนิดแม่น้ำสะแกกรัง มีเอกลักษณ์ทางธรรมชาติที่สวยงามได้แก่ น้ำตกแม่กระสาหรือแม่ดี น้ำตกแม่เรวา และแก่งผา - ดอยนาง พื้นที่เกือบทั้งหมดเป็นป่าเบญจพรรณ ป่าดงดิบเขา ป่าดงดิบแล้ง และป่าเต็งรัง ที่ค่อนข้างสมบูรณ์ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงบรเพ็ด

อยู่ในเขตตำบลพระนอน อำเภอเมือง ฯ มีพื้นที่ประมาณ ๑๓๓,๐๐๐ ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ ๓ อำเภอ คือ อำเภอเมือง ฯ อำเภอชุมแสง และอำเภอท่าตะโก ประกาศเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ ฯ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๘ บึงบรเพ็ด เป็นบึงน้ำจืดที่ใหญ่และอุดมสมบูรณ์ที่สุดของประเทศไทย เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของปลาและนกนานาชนิด โดยเฉพาะนกเจ้าฟ้าสิรินธร ซึ่งเป็นนกในสกุลนกนางแอ่น เป็นนกที่พบแห่งเดียวในประเทศไทย และในโลก ได้พบนกชนิดนี้เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๑ ชาวบ้านเรียกว่านกตาพอง จากการสำรวจพบว่าในบึงบรเพ็ดมีนกอยู่ ๔๔ วงค์ ๑๐๐ สกุล ๑๕๖ ชนิด โดยมากเป็นนกน้ำ ซึ่งแบ่งออกเป็น ๒ พวก คือ นกประจำถิ่น และนกที่อพยพย้ายถิ่นเข้ามาในบางช่วงฤดูกาล นกประจำถิ่น ได้แก่ นกอีโก้ง นกอีแจว เป็นต้น นกอพยพ ฯ ส่วนมากหนีความหนาวเย็นมาจากดินแดนที่หนาวจัด เช่น ไซบีเรีย ได้แก่นกเป็ดแดง นกเป็นสาย นกชายเลน นกคุ้ท และนกยางบางชนิด สวนรุกขชาติซับสมบูรณ์ อยู่ในเขตตำบลวังข่อย อำเภอไพศาลี มีพื้นที่ประมาณ ๑,๕๐๐ ไร่ จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๙ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นเทือกเขาสูงชันและสลับซับซ้อน ป่าไม้เป็นป่าเบญจพรรณ มีพันธุ์ไม้หลายชนิด จัดตั้งขึ้นเพื่ออนุรักษ์แหล่งพันธุ์ไม้ป่าท้องถิ่น และเพื่อศึกษาด้านพฤกษศาสตร์ วนอุทยาน
วนอุทยานเขาหลวง ตั้งอยู่ที่บ้านผาแดง ตำบลหนองกรด อำเภอเมือง ฯ มีพื้นที่ประมาณ ๕๙,๕๐๐ ไร่ จัดตั้ง เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๙ ครอบคลุมพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาหลวงทั้งหมด พื้นที่วนอุทยานอยู่ในเขต ๒ จังหวัด คือ จังหวัดนครสวรรค์ และ จังหวัดอุทัยธานี พื้นที่เป็นภูเขาสลับซับซ้อน สภาพป่าบนยอดเขาอุดมสมบูรณ์ด้วย พันธุ์ไม้ และสัตว์ป่านานาชนิด จุดท่องเที่ยวที่น่าสนใจได้แก่ยอดเขาหลวง ถ้ำบ่อยา ถ้ำธารทิพย์ และถ้ำพระ วนอุทยานถ้ำเพชร - ถ้ำทอง ตั้งอยู่ที่บ้านชอนเดื่อ ตำบลตาคลี อำเภอตาคลี จัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ ๒๕๓๐ มีพื้นที่ประมาณ ๕,๐๐๐ ไร่ ภูมิประเทศเป็นภูเขามีทิวทัศน์สวยงาม สมบูรณ์ไปด้วยพันธุ์ไม้และสัตว์นานาชนิด มีถ้ำต่างๆ อยู่ประมาณ ๗๐ ถ้ำ ในถ้ำมีหินงอกหินย้อยสวยงามตามธรรมชาติ
วนอุทยานเขาหลวง ตั้งอยู่ที่บ้านผาแดง ตำบลหนองกรด อำเภอเมือง ฯ มีพื้นที่ประมาณ ๕๙,๕๐๐ ไร่ จัดตั้ง เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๙ ครอบคลุมพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาหลวงทั้งหมด พื้นที่วนอุทยานอยู่ในเขต ๒ จังหวัด คือ จังหวัดนครสวรรค์ และ จังหวัดอุทัยธานี พื้นที่เป็นภูเขาสลับซับซ้อน สภาพป่าบนยอดเขาอุดมสมบูรณ์ด้วย พันธุ์ไม้ และสัตว์ป่านานาชนิด จุดท่องเที่ยวที่น่าสนใจได้แก่ยอดเขาหลวง ถ้ำบ่อยา ถ้ำธารทิพย์ และถ้ำพระ



ต้นน้ำลำธารและแหล่งน้ำ เขาโมโกจู เป็นยอดเขาสูงสุดของเทือกเขาถนนธงชัย มีความสูงประมาณ ๑,๙๐๐ เมตร จากระดับน้ำทะเล อยู่ทางด้านทิศตะวันตกของจังหวัด เป็นต้นกำเนิดของลำห้วยแม่วงก์ ซึ่งไหลไปทางทิศตะวันออก เป็นเส้นแบ่งเขตจังหวัดนครสวรรค์กับจังหวัดกำแพงเพชร เป็นลำห้วยขนาดใหญ่มีน้ำไหลตลอดปีมาแต่เดิม ปัจจุบันมีน้ำไหลเฉพาะในฤดูฝน ในฤดูแล้งจะมีน้ำเป็นห้วงๆ ลำห้วยแม่วงก์ไหลลงสู่แม่น้ำสะแกกรังในเขตจังหวัดอุทัยธานี เขาปลายห้วยขาแข้ง และเขาแม่เล่ย์ เป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาถนนธงชัย อยู่ทางด้านทิศตะวันตกของจังหวัด เป็นต้นกำเนิดของลำห้วยคลองโพธิ ไหลไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ไปบรรจบแม่น้ำตากแดดในเขต อำเภอสว่างอารมณ์ แล้วไหลลงสู่แม่น้ำสะแกกรังในเขตจังหวัด อุทัยธานี


บึงบรเพ็ด เป็นแหล่งน้ำสำคัญของจังหวัด เป็นบึงน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดในภาคกลางของประเทศไทย พื้นที่บึงบรเพ็ดเดิมเป็นที่ราบลุ่มน้ำท่วม แวดล้อมด้วยป่าไม้เบญจพรรณอันอุดมสมบูรณ์ มีลำคลองขนาดเล็กไหลผ่าน และประกอบไปด้วยหนองน้ำหลายแห่ง ทางด้านเหนือของบึงในเขตตำบล แควใหญ่ ตำบลเกรียงไกร และตำบลทับกริช มีแม่น้ำน่านไหลผ่าน ทางใต้ของบึงมีลำห้วยเล็ก ๆ คือ คลองวังมหากร คลองขุด ทางด้านตะวันออกของบึงมีพื้นที่น้ำจดเขาพนมเศษ น้ำไหลเข้าบึงทางคลองใยไหม และคลองตะโก ในฤดูฝนเมื่อมีน้ำเหนือไหลหลากมาทำให้บึงบรเพ็ดมีน้ำเต็ม กลายเป็นทะเลสาบน้ำจืดขนาดใหญ่ อุดมสมบูรณ์ไปด้วยสัตว์น้ำนานาชนิด ซึ่งนอกจากจะเป็นปลาชนิดต่าง ๆ แล้ว ยังมีจรเข้ และตะพาบน้ำ สภาพบึงบรเพ็ดในอดีตเมื่อถึงฤดูแล้ง น้ำในบึงจะไหลลงสู่แม่น้ำน่านทางคลองบอระเพ็ด พื้นที่รอบบึงจะเป็นที่ราบธรรมดา ในปี พ.ศ. ๒๔๖๔ รัฐบาลได้ว่าจ้างที่ปรึกษาชาวอเมริกันมาเป็นที่ปรึกษาด้านการประมง เมื่อได้สำรวจทางด้านนิเวศวิทยาของบึงบรเพ็ดพบว่า เป็นแหล่งน้ำที่สำคัญที่สุด และเป็นแหล่งพันธุ์ปลา มีความหลากหลายของพันธุกรรม แหล่งหากินและการวางไข่ของสัตว์น้ำในภาคกลางของประเทศไทย จึงได้แนะนำให้
กระทรวงเกษตราธิการ สงวนรักษาไว้เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ รวมทั้งให้รักษาระดับน้ำไว้ตลอดปี โดยการจัดสร้างฝายกั้นน้ำ และประตูระบายน้ำ การบริหารการประมงในบึงบรเพ็ดได้เริ่มขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๐ ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๗๑ กระทรวงพระคลังมหาสมบัติ ได้ประกาศกำหนดเขตบึงบรเพ็ด เป็นที่รักษาพันธุ์พืช เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๓ ได้ประกาศพื้นที่หวงห้ามไว้ ๒๕๐,๐๐๐ ไร่ ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๐ ได้ถอนการหวงห้ามเหลือประมาณ
๑๓๓,๐๐๐ ไร่ โดยมีอาณาเขตติดต่อกับ ๓ อำเภอคือ อำเภอเมือง ฯ อำเภอชุมแสง และอำเภอท่าตะโก พันธุ์ปลาในบึงบรเพ็ด มีอยู่ ๑๔๘ ชนิด เป็นปลาที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจหลายชนิดเช่น ปลาช่อน ปลาชะโด ปลาแดง ปลาเค้า ปลาเสือตอ รวมทั้งปลาประเภทสวยงามอีกหลายชนิด พันธุ์ไม้น้ำในบึงบรเพ็ดมีอยู่มากมายหลายชนิด ทั้งประเภทที่อยู่ใต้น้ำ ลอยน้ำและโผล่พ้นพ้น มีทั้งหมด
๙๓ ชนิด พันธุ์ไม้น้ำที่พบมากที่สุดได้แก่ บัวหลวง บัวแดง ผักตบชวา ดีปลีน้ำ ธูปฤาษี และสาหร่ายไฟเป็นต้น อุทยานนกน้ำ อยู่ทางทิศใต้ของบึงบรเพ็ด ในเขตอำเภอพระนอน อำเภอเมือง ฯ เป็นส่วนหนึ่งของ
บึงบรเพ็ด เป็นที่อยู่อาศัยของนกน้ำนานาชนิด ประมาณมีอยู่ถึง ๔๓ ชนิด ได้แก่ นกเป็ดน้ำ ซึ่งมีอยู่หลายพันธุ์
นกนางนวล นกกระยาง นกกระสา นกตะกรุม นกตะกราม นกกระเต็น นกอีแจว นกอีโก้ง นกอีล้ำ นกพริก
นกนางแอ่น นกคับแค นกกระจาบ


ต้นแม่น้ำเจ้าพระยา อยู่ในเขตตำบลปากน้ำโพ อำเภอเมือง ฯ เกิดจากแม่น้ำปิงและแม่น้ำน่าน ไหลมาบรรจบกันที่ตำบลปากน้ำโพ เป็นจุดเริ่มต้นของแม่น้ำเจ้าพระยา ณ จุดนี้จะเห็นความแตกต่างของสายน้ำทั้งสองได้อย่างชัดเจนคือ แม่น้ำจะมีสีเขียวคล้ำใส ส่วนแม่น้ำน่านจะมีสีแดงขุ่น สายน้ำทั้งสองจะค่อย ๆ รวมตัวเป็นสีเดียวกันเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณต้นแม่น้ำเจ้าพระยาจะเห็นแหลมของเกาะยม ซึ่งมีทัศนียภาพที่สวยงามมาก


ถ้ำบ่อยา อยู่บนเขาที่บ้านหินก้อน ตำบลหนองกรด อำเภอเมือง ฯ จากบริเวณเชิงเขามีบันไดขึ้นสู่ตัวถ้ำ ภายในถ้ำมีลานกว้างขวางมาก แบ่งออกเป็นสามช่วง ช่วงแรกเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูป ช่วงที่สองอยู่ลึกเข้าไปข้างในถ้ำ เป็นทางตัน มีบ่อน้ำอยู่ในช่วงนี้ ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นน้ำทิพย์ใช้รักษาโรคต่างๆ ได้ ช่วงที่สามเป็นทางออกจากถ้ำอีกทางหนึ่ง ภายในบริเวณมีหินงอกหินย้อยสวยงามมาก ที่เพดานถ้ำและผนังถ้ำบางแห่งหินงอกหินย้อยมีลักษณะเหมือนม่านแพร หรือฉากละคร ถ้ำพรสวรรค์ อยู่ที่บ้านเขาตะบองนาค ตำบลลำพยนต์ อำเภอตากฟ้า จากเชิงเขามีบันไดนาคขึ้นถึงปากถ้ำ ถ้ำสวรรค์เป็นถ้ำหินปูน ภายในถ้ำมีพระพุทธรูปปางไสยาสน์ และสระน้ำ อากาศภายในถ้ำจะมีอุณหภูมิไม่เปลี่ยนแปลงมาก ดังนั้นในฤดูร้อนภายในถ้ำจะรู้สึกเย็นสบาย ในฤดูหนาวจะรู้สึกอบอุ่น และในฤดูฝนอากาศก็จะเย็นสบายเช่นเดียวกับฤดูร้อน บริเวณใกล้กับถ้ำมีน้ำตกเล็ก ๆ ชื่อน้ำตกน้ำวิ่งมีน้ำไหลตลอดปี
น้ำตกแม่เรวา อยู่ในป่าลึกของอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ที่บ้านตลิ่งสูง ตำบลแม่เล่ย์ อำเภอแม่วงก์ ปัจจุบันรถยังเข้าไม่ถึง ต้องเดินป่าถึงสองวันจึงถึงน้ำตก น้ำตกแม่เรวามีต้นน้ำเกิดจากเทือกเขามองโกจู ซึ่งอยู่ติดกับเขตจังหวัดกำแพงเพชร น้ำตกมีหลายชั้น แต่ละชั้นสูงมากจนเชื่อกันว่าสูงที่สุดในทวีปเอเซีย สภาพป่าเขาบริเวณน้ำตก ยังคงมีความสมบูรณ์อยู่มาก ป่าเป็นป่าดงดิบชื้น มีสัตว์ป่าหลายชนิดอาศัยอยู่
ทุ่งหินเหิน อยู่ในเขตตำบลปางสวรรค์ กิ่งอำเภอชุมตาบง เป็นทุ่งหญ้าเชิงเขาที่มีกลุ่มก้อนหินขนาดใหญ่ วางซ้อนกันอยู่หลายแห่งหลายรูปแบบ กระจายอยู่ทั่วบริเวณในลักษณะที่สัมผัสกันเพียงเล็กน้อย ราวกับมีผู้ยกมาบรรจงวางเอาไว้ นับว่าเป็นสวนหินธรรมชาติที่สวยงาม แปลกตา หาพบได้ยาก เขาพระ อยู่ในเขตอำเภอหนองบัว เป็นเขาหินสีชมพู ก้อนหินที่เขาพระมีขนาดใหญ่ซ้อนกันเป็นรูปต่างๆ ดูสวยงามตามธรรมชาติ
เขาหน่อ - เขาแก้ว อยู่ในเขตตำบลบ้านแดน อำเภอบรรพตพิสัย เป็นภูเขาหินปูนมีบันไดขึ้นสู่ถ้ำบนยอดเขา มีถ้ำที่สวยงามหลายถ้ำ เช่น ถ้ำค้างคาว ถ้ำพระนอน มีพระพุทธไสยาสน์องค์ใหญ่อยู่ที่ปากถ้ำ มีลิงป่าอาศัยอยู่เป็นจำนวนมากที่บริเวณวัดเขาหน่อ ซึ่งตั้งอยู่ที่เชิงเขา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งเสด็จประพาสภาคเหนือทางชลมารค เคยประทับแรมที่วัดนี้ ส่วนเขาแก้วอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกันมีถ้ำหลายถ้ำเป็นที่อยู่ของค้างคาวเป็นจำนวนมาก ตอนเย็นพลบค่ำฝูงค้างคาวพากันบินออกไปหากิน มองเห็นฝูงค้างคาวเป็นสายสีดำพริ้วไปมาบนท้องฟ้าเป็นทางยาว

มรดกทางวัฒนธรรม
แหล่งโบราณคดีในจังหวัดนครสวรรค์มีอยู่เป็นจำนวนมาก ตั้งสมัยก่อนประวัติศาสตร์จนถึงสมัยรัตนโกสินทร์




สมัยก่อนประวัติศาสตร์ จากการสำรวจและขุดค้นของคณะสำรวจก่อนประวัติศาสตร์ไทย - เดนมาร์ค เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๕ พบว่ามีมนุษย์สมัยหินใหม่อาศัยอยู่ที่บ้านเก่า ตำบลจรเข้เผือก อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี มีอายุประมาณ ๓๕๐๐ - ๓๘๐๐ ปีมาแล้ว โบราณวัตถุที่ค้นพบที่บ้านเก่า ก็ได้ค้นพบในเขตพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ด้วยเช่นกัน พอประมวลได้ดังนี้ อำเภอเมือง ฯ ตำบลกลางแดด พบขวานหินขัด ที่เรียกกันว่า ขวานฟ้า อำเภอตากฟ้า ตำบลตากฟ้า ที่บ้านหนองใหญ่ บ้านพุนิมิตร บ้านเขาดินแดง พบเศษภาชนะมีเคลือบน้ำดินสีแดง แม่พิมพ์ดินเผา แวดินเผา ตุ๊กตาดินเผารูปวัว ขวานหินขัด กำไลเปลือกหอยทะเลเครื่องมือเหล็กประเภทขวานมีบ้อง ภาชนะดินเผาทรงพาน หม้อที่บางใบเคลือบน้ำดินสีแดง ภาชนะดินเผารูปวัว ภาชนะดินเผาประเภทหม้อ ชามมีลายเชือกทาบ เคลือบน้ำดินสีแดง
ตำบลสุขสำราญ ที่บ้านเขากา บ้านพุขมิ้น บ้านพุขาม บ้านซับตะเคียน พบภาชนะดินเผาเคลือบน้ำดินสีแดง ลูกปัดหินและแก้ว ภาชนะดินเผาลายเชือกทาบ ตะกรันแร่จากการถลุงโลหะ ภาชนะดินเผาทางชามอ่าง หม้อมีฐานลายเชือกทาบ กำไลหินและแกนหิน แวดินเผา ตำบลลำพยนต์ ที่บ้านพุกำแพง บ้านพุลำไย พบแกนหินขัด ภาชนะดินเผาลายเชือกทาบ และขูดขีดและเคลือบน้ำดินแดง ขวานหินขัด กำไลหินและแกนกำไล หินลับ ตำบลพุนกยูง ที่บ้านชอนทุเรียน พบภาชนะดินเผาลายเชือกทาบ ลายขูดขีดและเคลือบน้ำดินสีแดง หินลับ
อำเภอตาคลี มีแหล่งโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์ มีอายุระหว่าง ๔๕๐๐ - ๒๗๐๐ ปีมาแล้ว เช่น บ้านใหม่ชัยมงคล บ้านพุขมิ้น บ้านเขาขวาง บ้านโคกสูง บ้านห้วยหอม บ้านพุช้างล้วง ส่วนแหล่งโบราณคดีที่บ้านหนองบัวตากลาน น่าจะมีอายุระหว่าง ๒๗๐๐ - ๑๕๐๐ ปี เพราะเริ่มมีการพบเครื่องประดับประเภทลูกปัดคาร์เนเลียน ซึ่งเป็นของที่มาจากต่างถิ่น ในช่วงที่เริ่มมีการติดต่อกับอินเดีย โบราณวัตถุที่พบในเขตอำเภอตาคลี ได้แก่ โครงกระดูกมนุษย์เป็นจำนวนมาก หันศีรษะไปทางทิศตะวันออก วางภาชนะดินไว้เหนือศีระษะ มีขวดดินเผา กำไลหิน ที่บ้านจันเสน พบการใช้เครื่องมือเครื่องใช้ และเครื่องประดับทั้งสำริดแลเหล็ก บ้านใหม่ชัยมงคล พบว่ามีการใช้เครื่องมือประเภทขวานหินขัด เครื่องประดับทำจากหิน และเปลือกหอยทะเล เช่น ลูกปัด กำไล และเครื่องปั้นดินเผาแบบลายหนังช้าง ภาชนะดินเผาประเภททรงคล้ายบาตรพระ และกระบุง ภาชนะดินเผารูปวัว เครื่องมือเหล็กประเภทขวาน เครื่องมือคล้ายรูปตัวนก เครื่องประดับประเภทแหวน กำไล ปิ่นปักผมสำริด กำไลหินขัดต่อด้วยสำริด ขวานเหล็ก บ้านเขาใบไม้ พบขวานหินขัด ขวานเหล็ก ภาชนะดินเผาทรงพาน หม้อก้นกลม เครื่องประดับ กำไลและลูกปัดทำจากเปลือกหอยทะเล และหินอ่อน ต่างหูทำจากหิน ขวานสำริด บ้านพุขมิ้น พบขวานหินขัด กำไลหิน เศษภาชนะดินเผาลายเชือกทาบเคลือบน้ำดิน และลายกดประทับ ขวานสำริด บ้านเขาขวาง พบเศษภาชนะดินเผาลายประทับ และลายเชือกทาบ บ้านโคกสูง พบเศษภาชนะดินเผาลายเชือกทาบ และเคลือบน้ำดินสีแดง บ้านพุช้างล้วง พบกำไลหินสีเขียวขวานหินขัดใบหอกสำริด ภาชนะดินเผาเคลือบน้ำดินสีแดงประเภทหม้อมีเชิงและพาน บ้านห้วยหอม พบกำไลหินสีเขียว ขวานหินขัด ใบหอกสำริด ตะกรันเหล็ก และเศษภาชนะดินเผา บ้านหนองวัวตากลาน พบกำไลและต่างหู หินสีเขียว เครื่องประดับ เปลือกหอย ลูกปัดหินจะเกดและคาร์เบเลียน ลูกกระพวนสำริด ตุ๊กตาดินเผา
อำเภอท่าตะโก ที่บ้านเขาล้อ พบเครื่องปั้นดินเผาทรงพาน หม้อก้นกลม ตราประทับดินเผา
เครื่องดินเผา เครื่องมือเหล็กแบบต่าง ๆ ได้แก่ ขวาน เสียม ใบหอก เคียว ห่วง ขี้แร่ ตะกรันเหล็ก เครื่องมือเหล็ก และหินลับ อายุประมาณ ๒๗๐๐ - ๒๐๐๐ ปีมาแล้ว อำเภอพยุหคีรี พบโบราณวัตถุหลายอย่างในที่หลายแห่งคือ บ้านพุหว้า พบขวานหินขัด ขวานสำริดมีบ้อง หินลับ ภาชนะดินเผาลายเชือกทาบ ขูดขีด ประทับ เคลือบน้ำดินสีแดง บ้านพุวิเศษ พบขวานหินและโกลน แวดินเผา ขวานสำริด ใบหอกสำริด ต่างหูหิน บ้านพุซาง พบภาชนะดินเผาลายเชือกทาบ บ้านซับกระโดน พบภาชนะดินเผาเคลือบน้ำดินสีแดง บ้านซับผักกาด พบภาชนะดินเผาลายเชือกทาบ และเคลือบน้ำดินสีแดง บ้านชอน พบโกลน ขวานหินขัด และภาชนะดินเผาลายเชือกทาบ และเคลือบน้ำดินสีแดง บ้านเขาบ่อพลับ พบขวานหินขัด กำไลหิน กำไลเปลือกหอยทะเล ลูกปัดหิน ลูกปัดเปลือกหอย และกระดูกแกนกลางปลา ภาชนะดินเผาทรงกลมเคลือบน้ำดินสีแดง กำไลสำริด ใบหอก ขวาน เครื่องมือเหล็กรูปร่างคล้ายนก อำเภอไพศาลี ที่บ้านหนองบ่อ พบภาชนะดินเผาทางพาน ขวานหินขัด มีอายุประมาณ ๔๕๐๐ - ๒๗๐๐ ปีมาแล้ว อำเภอหนองบัว ที่บ้านห้วยถั่วใต้ พบขวานหิน ภาชนะดินเผาทรงกลม รูปวัวดินเผา เครื่องมือเหล็ก หินลับ กำไลและแหวนสำริด ลูกปัดทำจากหินอะเกต และคาร์เนเลียน ลูกปัดหินสีเขียว กำไลหิน มีอายอยู่ประมาณ ๒๗๐๐ - ๒๐๐๐ ปี ชุมชนก่อนประวัติศาสตร์ในเขต จังหวัดนครสวรรค์ มีอายุอยู่ประมาณ ๔๕๐๐ - ๒๗๐๐ ปี ส่วนใหญ่สามารถผลิตเครื่องมือ เครื่องใช้ และเครื่องประดับได้เอง ทั้งที่ทำจากหิน เปลือกหอย และสำริด สมัยประวัติศาสตร์ เป็นห้วงสมัยโลหะ เชื่อมต่อมาสู่สมัยประวัติศาสตร์ มีการติดต่อค้าขายกับอินเดีย ประมาณว่าเริ่มตั้งแต่สมัยอาณาจักรฟูนัน โบราณวัตถุที่ปรากฏคือ สมัยทวาราวดี
เมืองโคกไม้เดน อยู่ในเขตตำบลท่าน้ำอ้อย อำเภอพยุหคีรี เป็นเมืองที่มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ มีกำแพงดินสามชั้น กำแพงเมืองชั้นในเป็นรูปวงกลม กำแพงเมืองชั้นกลาง และชั้นนอกเป็นรูปวงรี มีขนาดกว้างประมาณ ๘๐๐ เมตร ยาวประมาณ ๑๐๐๐ เมตร ส่วนที่เป็นเมืองคูน้ำคันดิน เรียกกันว่าเมืองบน มีส่วนของโบราณสถานก่ออิฐอยู่บนยอดเขา และพื้นที่ราบนอกเมืองทางด้านทิศตะวันออก
โบราณวัตถุที่พบ ได้แก่ เศษภาชนะดินเผา แผ่นดินเผาสลักเรื่องราวในพุทธศาสนา แท่นหินบดยา หินบดยา ชิ้นส่วนตะเกียงโรมันทำด้วยดินเผา และศิลาจารึก ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นตัวอักษรใน พุทธศตวรรษที่ ๑๖ สำหรับโบราณวัตถุที่พบ จากการขุดแต่งโบราณสถาน ส่วนใหญ่เป็นปูนปั้นเป็นเศียรพระพุทธรูป เทวดา หรือพระโพธิสัตว์ รูปบุคคลและรูปสัตว์ ส่วนที่เป็นดินเผามียอดเจดีย์กลีบมะเฟือง เศียรพระพุทธรูปลายประดับ เจดีย์ หัวมังกร และพระพิมพ์ เป็นต้น โบราณวัตถุอื่น ๆ มีขวานหินมีบ่า เครื่องถ้วยสมัยสุโขทัย จากบรรดาหลักฐานทั้งหมดสรุปได้ว่า เมืองโคกไม้เดนเป็นเมืองสมัยทวาราวดี
เมืองจันเสน อยู่ในเขตตำบล จันเสน อำเภอตาคลี พบจากภาพถ่ายทางอากาศเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๙ บริเวณที่ตั้งเมืองเป็นที่ราบสูงกว่าที่ราบเจ้าพระยา สูงกว่าระดับน้ำทะเลประมาณ ๑๒ เมตร เป็นรูปวงกลม มีคูน้ำล้อมรอบแต่ไม่มีกำแพงดิน มีขนาดกว้างประมาณ ๗๐๐ เมตร ยาวประมาณ ๘๐๐ เมตร นอกคูเมืองทางทิศตะวันออก มีแอ่งน้ำขนาดกว้างประมาณ ๑๗๐ เมตร ยาวประมาณ ๒๔๐ เมตร เรียกว่าบึงจันเสน จากขอบบึงทางทิศใต้ มีคันดินกว้างประมาณ ๒๐ เมตร ยาวประมาณ ๔ กิโลเมตร ทอดตัวตรงไปทางทิศตะวันออก จากการขุดค้นพบว่าเมืองจันเสนมีชุมชนอาศัยอยู่ถึง ๖ สมัยด้วยกัน ตั้งแต่ยุคโลหะจนถึงสมัยทวาราวดีตอนปลาย รวมเวลากว่าพันปี คือตั้งแต่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๔ จนถึงประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๖ ได้พบเศษเครื่องปั้นดินเผาเป็นจำนวนมากที่มีการประทับลวดลายบนภาชนะ ส่วนมากอยู่ในสมัยทวาราวดี นอกจากนี้ยังพบจารึกบนก้อนดินเผาโดยจารึกด้วยอักษรปัลลวะ เป็นภาษาสันสกฤต ดงแม่นางเมือง อยู่ที่ตำบลตาสัง อำเภอบรรพตพิสัย เป็นเมืองที่มีรูปร่างสี่เหลี่ยมผืนผ้ามุมบนกว้างประมาณ ๕๐๐ เมตร ยาวประมาณ ๖๐๐ เมตร ตั้งอยู่บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำ ด้านทิศตะวันตกอยู่ใกล้แม่น้ำปิง ด้านทิศตะวันออกมีคลองตะเคียนติดต่อกับแม่น้ำน่านที่ปากน้ำเชิงไกร จากการขุดค้นสำรวจเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๙ ได้พบโบราณวัตถุที่สำคัญเป็นจำนวนมาก เช่น พระพุทธรูปหล่อด้วยสำริด พระพุทธรูปทำจากหินทรายแบบทวาราวดีตอนปลาย พระพิมพ์ดินเผาแบบลพบุรี ตลับสังคโลก รูปปั้นประดับโบราณสถาน และศิลาจารึก นอกจากนี้ยังพบพระพุทธรูปทำจากหินชนวนสลักแบบนูนต่ำ มีลักษณะแบบสมัยทวาราวดี จารึกที่พบได้ระบุศักราช ซึ่งตรงกับปี พ.ศ. ๑๗๑๐ หลังจากนี้ไม่นาน ก็ได้เกิดอาณาจักรสุโขทัยขึ้นทางเหนือ ชุมชนดงแม่นางเมืองจึงลดความสำคัญลง จนกลายเป็นเมืองร้างไป
เมืองดอนคา อยู่ที่ตำบลดอนคา อำเภอท่าตะโก ตัวเมืองมีรูปทรงสี่เหลี่ยมมุมมนเกือบเป็นวงกลม มีคูน้ำคันดิน ตั้งอยู่บนที่ลาดเชิงเขา ทางทิศใต้เขาขวาง และเขาดอนคา บริเวณโดยรอบมีทางน้ำไหลผ่านทางด้านทิศตะวันออกมีห้วยน้ำใสหรือห้วยตะโก ด้านทิศใต้มีห้วยวังแรง และมีคลองปลาหมออยู่ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ มีการขุดทางน้ำเพื่อเชื่อมต่อกับห้วงวังแรง และคลองปลาหมอ นอกกำแพงเมืองด้านทิศเหนือมีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ โดยมีแนวคันดินเชื่อมระหว่างเขาโรง และเขาพนมฉัตร คันดินกว้างประมาณ ๒๐- ๒๕ เมตร สูงประมาณ ๗ เมตร นอกจากนั้นจากการสำรวจเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๐ ทางด้านเหนือของเขาดอนคาและเขาขวาง ยังปรากฏมีแนวสันเขื่อนกั้นน้ำบริเวณบ้านเขาล้อ โดยจะเชื่อมต่อระหว่างเขาขวาง และเขาพนมฉัตร สันเขื่อนกว้างประมาณ ๒๐ - ๒๕ เมตร สูงประมาณ ๗ เมตร จากการสำรวจเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๐ ได้พบโบราณวัตถุเป็นเศษภาชนะดินเผาเป็นจำนวนมาก พบก้อนดินเผาสีแดงสูงประมาณ ๖ เซ็นติเมตร กว้างประมาณ ๕ เซ็นติเมตร ด้านหน้าเป็นรูปบุคคลนั่งชันเข่าขวาอยู่บนดอกบัว สวมหมวกยอดแหลม ใส่ต่างหูใหญ่สองข้าง มีอายุอยู่ประมาณ ๑๒๐๐ - ๑๕๐๐ ปีมาแล้ว มีลักษณะเหมือนกับที่พบที่เมืองจันเสน ชาวบ้านเรียกว่า เวตาล หรือ กุเวร
เมืองไพศาลี อยู่ที่ตำบลสำโรงชัย อำเภอไพศาลี จากการสำรวจเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๑ พบว่าตัวเมืองนี้มีรูปร่างเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้ามุมมน มีขนาดกว้างประมาณ ๕๐๐ ยาวประมาณ ๗๐๐ เมตร มีกำแพงดินสองชั้นกำแพงชั้นนอกเหลือฐานอยู่เพียงเล็กน้อย ส่วนกำแพงชั้นในยังเหลืออยู่เป็นส่วนใหญ่ มีคูเมืองอยู่คั่นกลาง ระหว่างกำแพงชั้นนอกกับชั้นใน สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยทวาราวดี บริเวณที่ตั้งชุมชนเป็นที่ราบลุ่ม มีทางน้ำไหลผ่าน คือ คลองสำโรงชัย
จากการขุดแต่งเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๙ พบว่าโบราณสถานซึ่งอยู่บริเวณด้านตะวันออกของตัวเมือง เป็นศิลปะสมัยอยุธยาตอนกลาง และตอนปลาย ประกอบด้วย พระอุโบสถ วิหาร เจดีย์และมณฑป และจากหลักฐานชั้นดินทางโบราณคดี พบว่าบริเวณนี้ได้มีชุมชนตั้งหลักแหล่งอยู่ก่อนการสร้างโบราณสถานกลุ่มเมืองเก่าดังกล่าวแล้ว สมัยสุโขทัย – อยุธยา จากตำนานมูลศาสนา เมืองนครสวรรค์มีชื่อว่า เมืองพระบาง พร้อมกับเมืองคันธิกะ เมืองบุรัฐ และเมืองบุราง ซึ่งพระนางจามเทวี ตั้งขึ้นในระหว่างเส้นทางที่จะไปเมืองลำพูน นอกจากนี้ยังมี เมืองเทพบุรี เมืองบางพล เมืองรากเสียด และเมืองตาก จากศิลาจารึกหลักที่ ๑ เมื่อปี พ.ศ. ๑๘๓๕ ของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ได้กล่าวถึงดินแดนทางทิศใต้ไว้ว่า "เบื้องหัวนอนรอดคนที พระบาง แพรก สุพรรณภูมิ ราชบุรี เพชรบุรี ศรีธรรมราช ฝั่งทะเลสมุทรเป็นที่แล้ว" จากศิลาจารึกนครชุม เมื่อปี พ.ศ. ๑๙๐๐ เรื่องการสร้างรอยพระบาท และศิลาจารึกเมืองต่าง ๆ และในศิลาจารึก เขาสุมนกูฏ เมื่อปี พ.ศ. ๑๙๔๗ สมัยพระมหาธรรมราชาที่ ๓ (พระเจ้าไสยลือไทย) กล่าวถึงดินแดนสุโขทัยครอบคลุมมาถึงเมืองพระบาง ในพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ในรัชสมัยสมเด็จพระนครินทราธิราช ปี พ.ศ. ๑๙๖๒ พระมหาธรรมราชาเจ้าเมืองพิษณุโลกสวรรคต เมืองเหนือทั้งปวงเป็นจลาจล จึงทรงยกกองทัพขึ้นไปถึงเมืองพระบาง พระยาบาลเมือง และพระยารามออกมาถวายบังคม การสงครามไทย - พม่า ในสมัยกรุงศรีอยุธยา พม่ามักใช้เส้นทางเดินทัพทางด่านแม่ละเมา เพื่อเข้าตีหัวเมืองฝ่ายเหนือของอยุธยา ได้แก่ เมืองตาก สุโขทัย สวรรคโลก พิษณุโลก และนครสวรรค์ โบราณสถาน
เมืองพระบาง ตั้งอยู่บริเวณวัดสี่เข่า ซึ่งตั้งอยู่กลางตัวเมือง เป็นเมืองเก่าสมัยสุโขทัย มีคันกำแพงเมือง และคูเมือง กำแพงเมืองกว้างยาวด้านละ ๘๐ วา (๑๖๐ เมตร) มีเจดีย์ตั้งอยู่กลางเมือง และมีพระพุทธรูปก่อด้วยอิฐถือปูน พระเศียรมีขนาด ๒๐ กำมือ ต่อมาในสมัยอยุธยาตอนต้นเรียกว่า เมืองพังคา ยังมีแนวกำแพงดิน และคูน้ำล้อมรอบตัวเมืองรูปสี่เหลี่ยมจตุรัสยาวด้านละ ๘๐ เมตร สูง ๑.๕๐ เมตร กว้าง ๒ เมตร ต่อมาในสมัยกรุงธนบุรี แม่น้ำปิงเปลี่ยนทางเดิน จึงได้ย้ายเมืองไปตั้งบริเวณ บ้านตลาดไผ่ล้อม เรียกว่าเมืองทานตะวัน หรือชอนตะวัน เมืองพระบางและวัดสีเข่า ได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๘ มีหลักฐานอีกว่า เมืองพระบางตั้งอยู่ที่เชิงเขากบ ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ และด้านทิศตะวันออก ติดกับแม่น้ำปิงประมาณ ๓๐๐ เมตร ทางด้านทิศใต้
โบราณสถานบ้านเขาบ่อพลับ อยู่บนเขาบ่อพลับในเขตตำบลม่วงหัก อำเภอพยุหคีรี เป็นเจดีย์ก่อด้วยอิฐเส้นผ่าศูนย์กลาง ๑๐ เมตร ส่วนบนพังทะลายหมด บริเวณบ่อน้ำด้านทิศตะวันออกของเจดีย์ พบโบราณวัตถุประเภทกระปุก และตลับเคลือบสีเขียวจำนวนมาก ภายในกระปุกมีเศษกระดูกมนุษย์ที่เผาแล้วบรรจุอยู่ พบกระปุกเคลือบสีเขียว และสีน้ำตาล จากแหล่งเตาบ้านเกาะน้อย อำเภอศรีสัชนาลัย มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๖ - ๑๘ บริเวณเขาบ่อพลับได้พบหลักฐานการอยู่อาศัยของมนุษย์ เมื่อ ๔๕๐๐ - ๒๐๐๐ ปีมาแล้ว
โบราณสถานเขาตีคลี ตั้งอยู่บนเขาตีคลีบ้านในเขตบ้านตุ๊กแก ตำบลดอนคา อำเภอท่าตะโก เป็นเมืองโบราณสมัยทวาราวดี มีคูน้ำคันดิน มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๑ - ๑๘ ภายในเมืองมีโบราณสถานเรียกว่าโคกปราสาท มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัสย่อมุมเป็นรูปแบบพระปรางค์ ยาวด้านละ ๗ เมตร มีมุขด้านทิศตะวันออกขนาดกว้าง ๓ เมตร ยาว ๗ เมตร ฐานชั้นล่างก่อด้วยศิลาแลง และเสริมอิฐด้านบนผนัง มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๗ - ๑๘
โบราณวัตถุที่พบมีพระพุทธรูปปางนาคปรก ทำจากศิลาทรายสององค์ มีลักษณะคล้ายศิลปะลพบุรี (บายน) มีอายุอยู่ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๗ - ๑๘ คล้ายกับพระพุทธรูปปางนาคปรกที่วัดเขากบ ที่บริเวณใกล้เคียงอีกหลายแห่งในเขตจังหวัดนครสวรรค์ และสุโขทัย ประติมากรรม นครสวรรค์เป็นดินแดนที่มีกลุ่มชนตั้งรกรากต่อเนื่องกันมาเป็นระยะเวลาอันยาวนาน จึงมีงานประติมากรรมตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์มาจนถึงปัจจุบัน พอประมวลได้ดังนี้
สมัยอารยธรรมอินเดียยุคกลาง (ประมาณปลายพุทธศตวรรษที่ ๘ - ๑๐) มีตะเกียงดินเผาโบราณทรงโรมันพบที่เมืองบน อำเภอพยุหคีรี สมัยอารยธรรมอินเดียยุคปลาย (ประมาณกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๐ - กลางพุทธศตวรรษที่ ๑๑) มีหัวงาช้างด้านหนึ่งเป็นรูปราชมงคล ๘ ประการและม้าเดินตามกัน อีกด้านหนึ่งเป็นรูปหงส์ โบราณวัตถุนี้ขุดพบที่เมืองโบราณจันเสน สมัยอารยธรรมมอญยุคต้น (ประมาณกลางพุทธศตวรรษที่ ๑๑ - ปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๒) มีผนึกตราดินเผาหลายชิ้น ที่เมืองโบราณจันเสน
สมัยอารยธรรมมอญยุคปลาย (ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒ - ต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๔) มีรูปปั้นอันเป็นต้นแบบ ลายไทย ซึ่งนิยมมากในพุทธศตวรรษที่ ๑๓ เป็นภาพหน้าคนสวมกุลฑล โผล่ออกมาจากซุ้มที่ประดับด้วยลายผักกูด พบที่โคกไม้เดน อำเภอพยุหคีรี พระพิมพ์สี่ปางที่สำคัญปางแสดงปฐมเทศนา ตอนบนแสดงภาพตรัสรู้ และแต่ทั้งสองข้างเป็นปางมหาปาฏิหาริย์ ส่วนสถูปเป็นลักษณะของปางนิพพาน พบที่เมืองทัพชุมพล อำเภอเมือง ฯ สมัยร่วมอารยธรรมร่วมอินเดียชวา (ประมาณต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๔ - ปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๘) มีใบเสมาสลักเป็น พระพุทธรูปยืน เคียงข้างด้วยพระอินทร์ พระพรหม พบที่ดงแม่นางเมือง อำเภอบรรพตพิสัย
สมัยร่วมอารยธรรมเขมร (ปรมาณปลายพุทธศตวรรษที่ ๑๕ - กลางพุทธศตวรรษที่ ๑๘) มีภาพพิมพ์ พระพุทธเจ้าประทับห้อยพระบาท เป็นปางปฐมเทศนา อยู่ในเรือนแก้วยอดทรงสิงขรพบที่เมืองโบราณจันเสน อำเภอตาคลี สมัยเปลี่ยนแปลงอารยธรรมมอญ - เขมร เป็นอารยธรรมไทย (พุทธศตวรรษที่ ๑๘ - กลางพุทธศตวรรษที่ ๑๙) มีพระพิมพ์ปางมารวิชัย ทรงกระบังหน้าห้ายอดประทับอยู่ในเรือนแก้ว มีต้นโพธิ์อยู่เบี้องบนของเรือนแก้ว ด้านข้างทั้งสองข้างเป็นพระพุทธรูปปางนาคปรก พบที่เมืองโบราณจันเสน อำเภอตาคลี
สมัยสุโขทัย มีแผ่นไม้แกะสลักภาพพระพุทธเสด็จดับขันธปรินิพพาน แผ่นที่สองเป็นพระพุทธรูปปางไสยาสน์ เป็นศิลปะสุโขทัยผสมลพบุรี จากศิลาจารึกสมัยสุโขทัยซึ่งขุดได้ที่เมืองนครชุม จังหวัดกำแพงเพชร มีความตอนหนึ่งว่า "พระยาธรรมมิกราชได้ไปจำลองรอยพระพุทธบาทที่ลังกาทวีป มาสร้างประดิษฐานไว้ที่เขาปากพระบาง" รอยพระพุทธบาทดังกล่าว คือรอยพระพุทธบาทบนเขากบในปัจจุบัน สมัยรัตนโกสินทร์ ได้รับอิทธิพลจากศิลปะจีน ได้แก่ลายปูนปั้น ซุ้มหน้าต่างวิหาร วัดเกยไชยเหนือ อำเภอชุมแสง หน้าบันและซุ้มหน้าต่างวัดยางโทน อำเภอเมือง ฯ ลายปูนปั้นบนหลังคาศาลาการเปรียญวัดพระปรางค์เหลือง อำเภอพยุหคีรี


จิตรกรรม ส่วนมากอยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรม ลบเลือนไปมาก มีจิตรกรรมสมัยอยุธยาตอนปลายที่พระอุโบสถวัดเกาะหงส์ อำเภอเมือง ฯ จิตรกรรมที่วิหารและศาลาวัดเกรียงไกรกลาง อำเภอเมือง ฯ จิตรกรรมในพระอุโบสถวัดบางประมุง อำเภอโกรกพระ ภาพเขียนบนศาลาการเปรียญ วิหารและอุโบสถวัดมะฝ่อ อำเภอโกรกพระ ภาษาและวรรณกรรม ภาษานครสวรรค์มีความเป็นภาษาถิ่นไม่ชัดเจน ประชากรส่วนใหญ่ใช้ภาษาไทยกลาง แต่มีกลุ่มชนที่พูดภาษาของกลุ่มตนอยู่บ้างเช่น ภาษามอญ ภาษาลาวและภาษาจีน ภาษามอญ มีชุมชนที่ใช้ภาษามอญอยู่ที่ตำบลบ้านแก่ง อำเภอเมือง ฯ ปัจจุบันมีอยู่ประมาณ ๔๐๐ คน ที่ตำบลบางมะฝ่อ อำเภอโกรกพระ มีอยู่ประมาณ ๓๐๐ คน ที่ตำบลโคกหม้อ อำเภอชุมแสง มีอยู่ประมาณ ๕๐๐ คน และที่ตำบลหนองนมวัว อำเภอลาดยาว มีอยู่ประมาณ ๖๐๐ คน ภาษาลาว ชุมชนที่ใช้ภาษาลาวซึ่งมีทั้งลาวโซ่งหรือไทยทรงดำ ลาวใต้หรือลาวเวียง ซี่งมาจากเวียงจันทน์ ลาวครั่งมาจากหลวงพระบาง ลาวแจ้วมาจากจังหวัดอุทัยธานี และลาวพวนมาจากจังหวัดสุพรรณบุรี ที่ตำบลหนองปลิง อำเภอเมือง ฯ มีอยู่ประมาณ ๖๐๐ คน อำเภอลาดยาว ประมาณ ๑,๘๐๐ คน อำเภอชุมแสง ประมาณ ๓๐๐ คน อำเภอบรรพตพิสัย ประมาณ ๖,๐๐๐ คน อำเภอไพศาลี ประมาณ ๖,๐๐๐ คน อำเภอหนองบัว ประมาณ ๙๐๐ คน และอำเภอตากฟ้า ประมาณ ๒,๐๐๐ คน รวมทั้งสิ้นมีอยู่ประมาณ ๒๑,๔๐๐ คน ภาษาจีน มีจีนฮกเกี้ยน ไหหลำ แต้จิ๋วแคะ และกวางตุ้ง ส่วนใหญ่อยู่ในเขตอำเภอเมือง ฯ จารึกสถูปดินเผาเมืองทัพชุมพล ๑ พบเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๔ เป็นอักษรหลังปัลลวะ มีอายุอยู่ประมาณ พุทธศตวรรษที่ ๑๓ - ๑๔ คือจารึกพระพิหารดินเผาวัดโคกไม้เคน และจารึกสถูปดินเผาเมืองทัพชุมพล ภาษาที่ใช้เป็นภาษามอญและภาษาบาลี ข้อความในบรรทัดที่ ๑ เป็นภาษามอญ กล่าวถึงการสร้างสถูปของบรรพบุรุษ ข้อความบรรทัดที่ ๒ เป็นภาษาบาลีเป็นข้อความสรุปคำสอนของพระพุทธศาสนา ที่เรยกว่าคาถาหัวใจพระพุทธศาสนา มีความว่า พระมหาสมณเจ้าทรงตรัสถึงธรรมที่มีเหตุเป็นแดนเกิด ตรัสเหตุของธรรนมเหล่านั้น ตรัสความดับของธรรมเหล่านั้น และตรัสอุบายอันเป็นเหตุแห่งความดับของธรรมเหล่านั้น จารึกสถูปดินเผาเมืองทัพชุมพล ๒ พบเมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๔ เป็นอักษรหลังปัลลวะ เช่นเดียวกีบจารึกแรก บรรทัดแรกเป็นภาษามอญ แต่ลบเลือนไป บรรทัดที่สองเป็นภาษาบาลี เช่นเดียวกับจารึกแรก จารึกพระพิมพ์ดินเผาวัดโคกไม้เคน พบเมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๗ เป็นอักษรหลังปัลลวะ จารึกเมื่อพุทธศตวรรษที่ ๑๔ - ๑๕ ใช้ภาษาบาลี เป็นคำนมัสการพระรัตนตรัย จารึกดงแม่นางเมือง พบเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๙ วัตถุจารึกเป็นหินชนวนสีเขียว เป็นรูปใบเสมา มีขนาดกว้าง ๓๗ เซ็นติเมตร สูง ๑๗๕ เซ็นติเมตร หนา ๒๑ เซ็นติเมตร จารึกเป็นอักษรขอมทั้งสองด้าน ด้านที่ ๑ มี ๑๐ บรรทัด ด้านที่ ๒ มี ๓๓ บรรทัด จารึกเมื่อปี พ.ศ. ๑๗๑๐ จารึกด้วยอักษรไทยปัจจุบันและอักษรขอมเป็นภาษาบาลี ภาษาเขมรและภาษาไทย ปรากฎปนอยู่ด้วยกัน จารึกด้านที่ ๑ กล่าวถึงพระเจ้าอโศกมหาราช มีรับสั่งมายังพระเจ้าสุนัตให้บูชาพระธาตุ ฯ พระเจ้าสุนัตจึงประกาศให้ประชาชนทราบ จารึกด้านที่ ๒ กล่าวถึงมหาราชาธิราชพระนามกรุงศรีธรรมาโศกถวายแด่พระสรีรธาตุ พระนามว่าคมรเตงชคตศรีธรรมาโศก ณ ตำบล ธานยปุระ มหาเสนาบดีชื่อศรีภูวรนาทิตย์ธิศวรทวีป นำกระแสพระราชโองการราชาธิราชมายังกรุงสุนัต ผู้ครองนคร ณ ธานยปุระบัณฑูรใช้ให้ถวายที่นา ซึ่งได้กำหนดเขตไว้แล้วเป็นพระบูชากบงเตงชคต ในศักราช ๑๐๘๙ กรุงสุนัต ทำบูชากมรเตงชคต ถวานที่นาซึ่งได้กำหนดเขตไว้แล้ว ศิลาจารึกวัดเขากบ พบเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๔ มีลักษณะเป็นหินอ่อนสูง ๘๐ เซ็นติเมตร กว้าง ๔๗ เซ็นติเมตร เป็นอักษรครั้งพระยาฦาไทย สันนิษฐานว่าจารึกเมื่อประมาณปี พ.ศ. ๑๙๐๖ จารึกเป็นภาษาไทยสมัยสุโขทัย ด้านที่ ๑ เป็นเรื่องสร้างรามเจดีย์และรามวิหาร ที่รามวิหารคือเขาสุมนกูฎ (คือเขากบ) ผู้สร้างพระเจดีย์และวิหาร ขออุทิศส่วนกุศลให้พระยารามผู้เป็นน้อง ด้านที่ ๒ เป็นเรื่องที่ผู้ใดผู้หนึ่งไม่ปรากฎชื่อได้บำเพ็ญกุศลต่าง ๆ แล้วไปเที่ยวเสาะแสวงหาพระธาตุจนถึงเมืองอินเดียและลังกา ตำนานเขาหินกลิ้ง ที่บ้านเขาหินกลิ้ง ตำบลวังน้ำค้าง อำเภอไพศาลี มีก้อนหินใหญ่สองก้อนอยู่กลางทุ่งนา มีตำนานเล่าถึงความเป็นมาพอประมวลได้ดังนี้ นานมาแล้วมีเมืองอยู่สามเมือง คือเมืองไผ่สาลี เมืองจำคา และเมืองปัจจันตคาม ทั้งสามเมืองนี้มีอาณาเขตติดต่อกัน เมืองไผ่สาลีอยู่กลาง เมืองรำคาอยู่ทางทิศตะวันตก และเมืองปัจจันตคามอยู่ทางทิศตะวันออก เจ้าเมืองไผ่สาลีมีธิดาทรงพระสิริโฉมชื่อสร้อยลัดดา ส่วนอีกสองเมืองมีพระราชโอรสที่หวังปองพระธิดาองค์นี้ จึงได้มีการกลิ้งหินแข่งขันระหว่างเมืองทั้งสอง ถ้าฝ่ายใดชนะก็จะได้นางไปครอง ฝ่ายเมืองจำคากลิ้งหินมาถึงหลักชัยก่อน แล้วมัวฉลองชัยชนะ ลืมไปลั่นฆ้องที่หลักชัยตามที่ได้ตกลงกันไว้ ฝ่ายเมืองปัจจันตคาม เมื่อกลิ้งหินมาถึงก็ไปลั่นฆ้องชัยเป็นฝ่ายชนะ ได้นางสร้อยลัดดาไปครอง นางสร้อยลัดดามีใจสมัครรักใคร่ในตัวเจ้าชายแห่งเมืองจำคามาก่อน จึงเศร้าโศกเสียใจ เจ้าชายเมืองปัจจันตคามจึงออกอุบาย ส่งคนไปสร้างแท่นหินบนยอดเขาลูกหนึ่ง แล้วพานางไปนั่งบนแท่นหิน ปลอบประโลมนางด้วยประการต่าง ๆ นางก็ไม่ปลงใจด้วย เขาลุกนั้นจึงได้ชื่อว่า เขาโลมนาง ในที่สุดพากันลงมาจากเขาถึงลำห้วยแห่งหนึ่งชื่อห้วยตะกุด นางจึงปลงใจรักเจ้าชาย ห้วยนี้จึงได้ชื่อว่า ตะกุดนางยอม ปัจจุบันเป็นหมู่บ้านชื่อ ตะกุดพะยอม บริเวณหลักชัยกลิ้งหิน ปัจจุบันมีหินก้อนกลมใหญ่สองก้อนขนาดเท่า ๆ กันตั้งอยู่กลางทุ่งนา บริเวณเขาหินกลิ้ง ดังกล่าวมาแล้ว ส่วนเมืองไผ่สาลี คือ บ้านหนองไผ่ อำเภอไพศาลี เมืองจำคา คือ บ้านดอนคา อำเภอท่าตะโก และเมืองปัจจันตคาม คือ บ้านเขาข้าวพุ่ม อำเภอไพศาลี ตำนานเมืองจันเสน จันเสนเป็นตำบลอยู่ในอำเภอไพศาลี เป็นเมืองโบราณมีตำนานเล่าไว้ดังนี้ เมืองนี้เดิมชื่อสามเสน มีคนอยู่สามแสนคน เจ้าเมืองใช้คนให้คนในเมืองขุดดินเหนียวคนละกำมืองทำให้ได้บึงขนาดใหญ่ คือ บึงจันเสนในปัจจุบัน เจ้าเมืองสามแสนมีลูกชายคนหนึ่ง ได้ไปสู่ขอนางผมหอมที่เมืองบ่อทอง ตำบลชอนสรเดช อำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี ได้แห่ขันหมากไปทางเรือ ผ่านบ้านห้วยลาดวังตะกร้อ พอถึงห้วยลาดน้ำยา เรือขันหมากเกิดล่ม เครื่องขันหมากลอยไปยังสถานที่ต่าง ๆ กลายเป็นชื่อสถานที่ เช่น บ้านขนมจีน เป็นต้น เมืองสามแสนก็กลายเป็นเมืองจันเสน ตำนานเขากบ เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๔๖๐ มีพระภิกษุรูปหนึ่งชาวบ้านเรียกว่าหลวงพ่อทอง ได้ธุดงค์มาปักกรดอยู่ที่ข้างหมู่บ้านแห่งหนึ่งที่เชิงเขากบปัจจุบัน วันหนึ่งหลวงพ่อทอง ได้ไปพบเจดีย์เก่าแก่ จึงเข้าไปถามชาวบ้านชาวบ้านชื่อตากบมีภรรยาชื่อยายเขียด บอกว่าเจดีย์เก่าแก่นี้ชาวบ้านนับถือมาก ถ้าต้องการใช้ที่ดินบริเวณนั้นเป็นที่พำนัก ตนก็ยินดีถวายให้ เพราะตนมีที่ดินอยู่ประมาณร้อยไร่เศษ ครอบคลุมยอดเขาแห่งนี้ หลวงพ่อทองได้รับที่ดินแล้วจึงขอแรงชาวบ้านสร้างกุฏิ อุโบสถ และศาลา เป็นใช้จำพรรษาเป็นที่ถาวร เมื่อตากบกับยายเขียดถึงแก่กรรม หลวงพ่อทองจึงให้ช่างปั้นรูปจำลองตากบยายเขียดตั้งไว้หน้าพระอุโบสถ ยังปรากฏอยู่ทุกวันนี้ หลังจากนั้นจึงได้กำหนดที่ดินทั้งหมดเป็นของวัด และตั้งชื่อว่า วัดกบ ตามชื่อเจ้าของที่ดิน ที่ดินแปลงนี้มีคูน้ำล้อมรอบ บนไหล่เขาเต็มไปด้วยไม้รวก และเนื่องจากเชิงเขากบมีไม้สักขึ้นอยู่มากมาย หลวงพ่อทองจึงตั้งชื่อวัดใหม่ว่า วัดกบทราวสีจอมคีรี ณ ป่าสัก ภายหลังต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น วัดนรนาถบรรพต ตำนานวัดเขาแก้ว เขาแก้วอยู่ในเขตตำบลพยุห อำเภอพยุหคีรี เชิงเขามีวัดชื่อวัดเขาแก้ว การที่ได้ชื่อนี้เพราะสภาพหินเป็นเหลี่ยมหกเหลี่ยม มีลักษณะเป็นแก้วใส ชาวบ้านนำมาเจียระไนทำเป็นหัวแหวน และเครื่องประดับ มีตำนานดังนี้ ที่เขาแก้วมีถ้ำอยู่เชิงเขา ซึ่งเดิมเป็นที่ตั้งวัด มีปากถ้ำเป็นปล่องยาวประมาณ ๕๐๐ เมตร ไปโผล่ที่ท่าจันทร์ปากคลองบางไทร ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ภายในถ้ำกว้างใหญ่มีทรัพย์สมบัติ และมีโคแก้วตัวใหญ่หน้าแด่นตัวหนึ่ง ตวงตาของโคแก้วส่องแสงเป็นประกายสว่างไปในถ้ำ หลวงพ่อคูหาเจ้าอาวาสจะลงจากปากถ้ำไปสรงน้ำที่ท่าจันทร์เสมอ วันหนึ่งเณรที่อยู่กับท่านสงสัยว่าท่านไปสรงน้ำที่ไหน จึงแอบตามไปดูเห็นท่านเข้าไปในถ้ำ จึงตามเข้าไป ได้พบโคแก้วและทรัพย์สมบัติมากมาย เมื่อท่านรู้เข้าเห็นว่าจะเกิดอันตรายแก่สมบัติเหล่านั้น จึงเกณฑ์ชาวบ้านให้ช่วยกันเอาหินและดินมาปิดปากถ้ำ เนินดินที่ถมปากถ้ำยังปรากฏอยู่เป็นสันเนินสูง ขนาดเท่าจอมปลวกใหญ่ มาจนถึงทุกวันนี้ ตำนานดงแม่นางเมือง ดงแม่นางเมืองอยู่ในเขตตำบลตาสัง อำเภอบรรพตพิสัย มีตำนานเล่าสืบต่อกันมาดังนี้ ดงแม่นางเมืองมีผู้ครองเมืองเป็นเจ้าหญิงทรงสิริโฉม เป็นที่ร่ำลือกันไปทั่วทุกแว่นแคว้น บรรดาเจ้าชายจากเมืองต่างๆ พากันมาทาบทามสู่ขอ เกิดมาพร้อมกันทั้งสามเมือง คือจากเมืองกำแพงเพชร เมืองพิจิตร และอีกเมืองหนึ่งไม่ปรากฏชื่อว่าเมืองอะไร ฝ่ายเจ้าหญิงไม่รู้ว่าจะเลือกใคร จึงได้ยื่นข้อเสนอให้เจ้าชายทั้งสามถือปฏิบัติพร้อม ๆ กัน คือ แข่งขันกันจองถนนจากเมืองของเจ้าหญิงไปยังเมืองของตน ถ้าใครทำเสร็จก่อนก็จะได้อภิเษกกับเจ้าหญิง เมื่อการแข่งขันเริ่มขึ้น เจ้าชายจากเมืองกำแพงเพชร เริ่มต้นสร้างถนนที่หัวบึงเฒ่า อยู่ทางทิศตะวันตกของเมือง เจ้าชายจากเมืองพิจิตร สร้างค่ายทำถนนอยู่ที่วงฆ้องใกล้เขาดินบ้านหนองหญ้าปล้องปัจจุบัน ส่วนเจ้าชายอีกองค์หนึ่งเริ่มต้นที่ท่าเสา ปากบึงปลาทู แต่เริ่มทำทีหลัง พอเห็นว่าไม่ทันการก็เสียใจ เทขนมขันหมากทิ้งทั้งหมด บริเวณที่ทิ้งขนมนั้นได้ชื่อว่าทุ่งขนมหก การสร้างถนนยังไม่สำเร็จก็เกิดรบพุ่งกันยืดเยื้อ ฝ่ายเจ้าหญิงจึงอพยพไปอยู่ที่อื่นโดยลอบพาชาวเมืองหนีไปตอนกลางคืน ไปสร้างเมืองใหม่อยู่ที่หาดทรายงาม เมื่อเจ้าชายที้งสามทราบเรื่องก็พร้อมใจกันสงบศึก เลิกทัพกลับไป ปล่อยดงแม่นางเมืองทิ้งไว้เป็นสุสานแห่งความรักตั้งแต่นั้นมา ตำนานเรื่องโบสถ์เทวดาสร้าง โบสถ์หลังนี้อยู่ที่วัดจอมคีรีนาคพรต อำเภอเมือง ฯ ตัวโบสถ์เป็นรูปศาลาโถง ไม่มีผนังทั้งสี่ด้าน รูปทรงแบบโบราณ เครื่องบนเป็นไม้สักล้วน หลังคามุงกระเบื้อง ยาว ๖ วา ๒ ศอก กว้าง ๔ วา ๑ ศอก มีพระไลโดยรอบ มีเรื่องเล่าต่อกันมาว่า เมื่อชาวบ้านเริ่มสร้างอุโบสถ ได้ติดตั้งเสาพร้อมเครื่องบน ตอนกลางคืนก็ได้ยินเสียงมโหรีปีพาทย์ และแสงสว่างส่องสว่างไปทั่วบริเวณยอดเขา จึงพากันไปดูโบสถ์ที่สร้างพบว่างานที่ทำค้างอยู่เสร็จหมด โดยที่ไม่พบผู้ใดเลยเป็นที่มหัศจรรย์ จึงพักการสร้างไว้เพียงเท่านั้น เรื่องราวดังกล่าวเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี เมื่อพม่ายกทัพมาตีไทย ขณะที่ทหารไทยตั้งค่ายพักแรมอยู่ตามบริเวณวัดเขาบวชนาค วันหนึ่งเกิดฝนตกหนัก กองทหารได้เข้าไปพักหลบฝนอยู่ในบริเวณพระอุโบสถแห่งนี้ได้หมดทั้งกอง ทั้งที่พระอุโบสถไม่ได้ใหญ่โตอะไร ด้วยเหตุนี้ชาวนครสวรรค์จึงเชื่อว่าเป็นพระอุโบสถที่เทวดาสร้าง เมื่อครั้งที่วัดแห่งนี้ถูกไฟป่าลามเข้ามาไหม้ครั้งใหญ่ บรรดาถาวรวัตถุของวัดถูกไฟไหม้เกือบหมด คงเหลือแต่โบสถ์หลังนี้เหลืออยู่เพียงหลังเดียว ต่อมาในสมัยรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จประพาสนครสวรรค์ และได้มีการทดลองว่าพระอุโบสถหลังนี้ จะบรรจุคนได้มากจริงตามที่ร่ำลือกันหรือไม่ โดยทรงนำข้าราชบริพารที่ตามเสด็จทั้งหมดเข้าไปในพระอุโบสถ ก็ปรากฏว่าเมื่อเข้าไปทั้งหมดแล้วก็ยังไม่เต็ม ทำให้ชาวนครสวรรค์มีความเชื่ออย่างแน่นแฟ้นว่าเป็นพระอุโบสถที่เทวดาสร้างจริง

มรดกทางพระพุทธศาสนา
วัดเขากบ มีชื่ออื่นว่า วัดวรนาถบรรพตหรือวัดปากพระบาง ตั้งอยู่บนเขากบ ในเขตอำเภอเมือง ฯ ทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำปิง สมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงพบศิลาจารึกเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๔ บนเขากบ ใกล้รอยพระพุทธบาทของพระมหาธรรมราชาที่ ๑ (พระเจ้าลิไทย) ซึ่งในศิลาจารึกนครชุมกล่าวถึง "พระยาธรรมิกราชให้ไปพิมพ์รอยตีนพระเป็นเจ้าเถิงสิงหล อันเหยียบเหนือจอมเขาสุมนกูฏบรรพต ประมาณเท่าใด เอามาพิมพ์ไว้ จุ่งคนทั้งหลายเห็นแท้ อันหนึ่งประดิษฐานไว้เหนือจอมเขาที่ปากพระบาง" ส่วนศิลาจารึกหลักที่ ๑๑ พ.ศ. ๑๙๖๒ (วัดกบ) กล่าวถึงการสร้างพระเจดีย์วิหารอุทิศให้พระยารามผู้น้อง ภายในวัดเขากบมีสิ่งที่สำคัญดังนี้ เจดีย์ทรงลังกาหรือทรงระฆัง ก่ออิฐถือปูน เป็นเจดีย์ที่มีอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๐ - ๒๑ องค์ระฆังตั้งอยู่บนฐาน บัลลังก์ไม่มีเสาหานแบบศิลปะสุโขทัย พระพุทธรูปศิลาปางนาคปรก เป็นศิลปะลพบุรี อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๘ รอยพระพุทธบาท เป็นหินชนวน ลายดอกบัวตรงกลางมีขนาดเล็กกว่ารอยพระพุทธบาทเขาหน่อ อำเภอบรรพตพิสัย เขากบ ได้ขึ้นทะเบียนโบราณสถาน เมื่อปี พ.ศ ๒๔๗๘ ได้รับสถาปนาเป็นพระอารามหลวง เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๖
วัดบน ตั้งอยู่ในเขตตำบลบ้านมะเกลือ อำเภอเมือง ฯ โบราณสถานในวัดประกอบด้วยฐานพระอุโบสถ และพระวิหารก่อด้วยอิฐ มีกำแพงแก้วที่ก่อด้วยอิฐล้อมรอบกลุ่มโบราณสถาน วัดเขาบน ขึ้นทะเบียนโบราณสถาน เมื่อปี พ.ศ ๒๔๗๘ วัดช่องลม ตั้งอยู่ในเขตตำบลบ้านมะเกลือ อำเภอเมือง ฯ พระอุโบสถมีอายุอยู่ในสมัยสุโขทัย วัดช่องลม ขึ้นทะเบียนโบราณสถาน เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๘วัดจอมคีรีบรรพต ตั้งอยู่บนเขาบวชนาค ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ในเขตตำบลนครสวรรค์ออก อำเภอเมือง ฯ โบราณสถานและโบราณวัตถุในวัดประกอบด้วย พระอุโบสถ วิหาร และพระพุทธรูปปางมารวิชัย มีอายุอยู่ในสมัยสุโขทัย - อยุธยา กลุ่มโบราณสถานเขาบวชนาค ขึ้นทะเบียนโบราณสถาน เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๘ วัดกระดี่ทอง อยู่ในเขตตำบลนครสวรรค์ โบราณสถานในวัดคือ เจดีย์วัดกระดี่ทอง ขึ้นทะเบียนโบราณสถาน เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๘ วัดหนองปลาแห้ง อยู่ในเขตตำบลนครสวรรค์ออก มีเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง ฐานกว้างด้านละ ๖ เมตร สูง ๑๐ เมตร ก่ออิฐถือปูน ศิลปะอยุธยา มีอายุอยู่ประมาณ พุทธศตวรรษที่ ๒๒ - ๒๓ มีแนวคูน้ำล้อมรอบขนาด ๕๐๐ x ๑๐๐๐ เมตร สันนิษฐานว่าเดิมน่าจะเป็นวัด ต่อมาได้ดัดแปลงเป็นค่ายสำหรับพักไพร่พลระหว่างสงคราม
วัดเกาะหงส์ ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ในเขตตำบลตะเคียนเลื่อน อำเภอเมือง ฯ มีประวัติว่าเรียกชื่อวัดตามเสาหงส์ที่เคยตั้งอยู่ในวัด เพราะเป็นชุมชนมอญ เดิมซึ่งมักใช้เสาหงส์เป็นสัญลักษณ์ สิ่งที่สำคัญในวัดได้แก่วิหารก่ออิฐถือปูน หลังคาเครื่องไม้ มุงกระเบื้องดินเผา เป็นวิหารขนาด ๕ ห้อง กว้าง ๘ เมตร ยาว ๒๑ เมตร มีมุขด้านหน้าและด้านหลัง หลังคาลดสองชั้น เครื่องบนหลังคาประกอบด้วย ช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ นาคสะดุ้งปูนปั้นประดับกระจกสี หน้าบันด้านทิศตะวันออก เป็นลายปูนปั้นรูปรามเกียรติ์ ด้านทิศตะวันตกเป็นรูปนารายณ์ทรงครุฑ ประตูด้านตะวันออกและด้านตะวันตก กว้างประมาณ ๑.๕๐ เมตร และ ๑.๗๓ เมตร ตามลำดับ ผนังด้านนอกมีรอยพระพุทธบาทขนาดหน้าต่างของวิหาร กว้าง ๑.๐๐ เมตร สูง ๑.๗๕ เมตร ด้านในพระวิหารมีร่องรอยจิตรกรรมฝาผนังรูปเทวดา เป็นภาพต่อเนื่องกันไปแบบศิลปะอยุธยา ลักษณะสถาปัตยกรรม เป็นรูปแบบศิลปะอยุธยาตอนปลาย ถึงรัตนโกสินทร์ตอนต้น เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๓๖
วัดพระปรางค์เหลือง ตั้งอยู่บนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ในเขตตำบลท่าน้ำอ้อย อำเภอพยุหคีรี โบราณสถานบริเวณวัดนี้ อาจจะมีอายุไปถึงสมัยทวาราวดี ต่อเนื่องมาถึงสมัยอยุธยาและรัตนโกสินทร์ มีเจดีย์ก่อด้วยอิฐถือปูน ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๑๕ เมตร สูง ๕ เมตร ส่วนบนพังทลายไปแล้ว บริเวณเนินเจดีย์พบระฆังหินขนาด ๑๒ x ๗๐ x ๑๑๐ เซ็นติเมตร ด้านทิศตะวันออกของเจดีย์ มีพระอุโบสถก่ออิฐถือปูน หลังคาเครื่องไม้มุงกระเบื้องดินเผา พื้นกระเบื้องดินเผา หน้าบันพื้นปูนปั้นประดับด้วยเครื่องเบญจรงค์ และเครื่องถ้วยจีน ภายในพระอุโบสถมีพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย ศิลปะอยุธยาตอนปลาย ขนาดหน้าตัก ๑.๓๕ เมตร ฐานชุกชีกว้าง ๒.๒๐ เมตร ยาว ๓.๕๕ เมตร สูง ๘๐ เซ็นติเมตร โบราณสถานบริเวณนี้ สันนิษฐานว่า น่าจะสร้างทับซ้อนกันอย่างน้อยสามครั้ง ชั้นล่างสุดน่าจะเป็นสมัยทวาราวดี ส่วนเจดีย์น่าจะอยู่ในสมัยอยุธยา พระอุโบสถสร้างสมัยรัตนโกสินทร์ทับบนพระอุโบสถเดิม ส่วนระฆังหินนำมาจากเมืองบน ซึ่งอยู่ห่างออกไปทางทิศตะวันออกประมาณ ๕๐๐ เมตร วัดโพธาราม ตั้งอยู่ในเขตตำบลปากน้ำโพ อำเภอเมือง ฯ เป็นพระอารามหลวงชั้นตรี เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๖ สันนิษฐานว่า สร้างขึ้นก่อนสมัยรัตนโกสินทร์ เดิมตั้งอยู่ริมแม่น้ำปิง ได้ขึ้นทะเบียนเป็นวัดตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๒๐ พระอุโบสถหลังใหม่สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๕ โครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก เป็นตึกทรงไทยสองชั้น พระประธานในพระอุโบสถเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หล่อด้วยทองเหลือง สร้างเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๖ มีพระนามว่า พระโพธานุชินราช วัดโพธารามได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาครั้งหลังเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๑ และได้ผูกพัทธสีมาเมื่อ ปี พ.ศ. ๒๔๘๒
วัดนครสวรรค์ อยู่ในเขตตำบลปากน้ำโพ อำเภอเมือง ฯ เป็นพระอารามหลวงชั้นตรีชนิดสามัญเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๘ เดิมชื่อว่าวัดหัวเมือง เพราะตั้งอยู่ตอนต้นของตัวเมือง ก่อนจะเข้าถึงตัวเมืองต้องผ่านวันนี้ก่อน สร้างเมื่อประมาณปี พ.ศ. ๑๙๗๒ เดิมหน้าวัดอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา มีต้นโพธิ์และพระปรางค์มองเห็นเด่นชัด สำหรับผู้ที่สัญจรทางน้ำ ต่อมาแม่น้ำได้เปลี่ยนเส้นทางเดินห่างออกไปจากวัดประมาณ ๑๐๐ เมตร วัดนครสวรรค์ใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา และเป็นวัดที่ใช้สอบธรรมและบาลีสนามหลวง ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๗๗ ตลอดมา ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เมื่อปี พ.ศ. ๒๒๐๓ ชาวบ้านได้พบช้างเผือก ๑ เชือกที่นครสวรรค์ และได้นำมาประกอบพิธีทางศาสนาที่วัดนี้ แล้วนำไปน้อมเกล้า ฯ ถวายสมเด็จพระนารายณ์มหาราชที่เมืองลพบุรี ได้รับพระราชทานนามว่า เจ้าพระยาบรมคเชนทรอัททันต์ พระประธานในพระอุโบสถ หล่อด้วยทองเหลือง หน้าตักกว้าง ๒.๕๐ เมตร เรียกกันว่า หลวงพ่อศรีสวรรค์ พระพุทธรูปใหญ่สององค์ในพระวิหาร เรียกกันว่าพระผู้ให้อภัย และยังมีพระพุทธรูปในพระวิหารอีกสององค์ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หล่อด้วยสำริดสมัยสุโขทัย บริเวณหน้าพระอุโบสถมีพระเจดีย์เก่าอยู่สามองค์